วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตำนานพระพุทธชินราช

ตำนานพระพุทธชินราช




เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองโบราณ ก่อนจุลศักราช ๔๐๐ ก่อนพุทธศักราช ๑๕๐๐ เป็นเวลาที่เมืองเชียงแสนรุ่งเรืองมาก และมีอำนาจมากด้วยขณะนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงร่ำเรียนคัมภีร์ ในพุทธศาสนาพระวินัยพระสูตร พระปรมัตถเป็นอันมาก ได้คิดสร้างเมืองหนึ่ง เริ่มก่อสร้างกำแพงเมืองในเวลาเช้าวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉล๔ เบญจศกจุลศักราช ๓๑๕ พระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๑๔๙๖ ซึ่งนับว่าเป็นชะตาของเมืองพิษณุโลก และให้ขนานนามว่า “เมืองพิษณุโลก”

ด้วยพระราชกุศลอันพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกสร้างในเมืองพิษณุโลก คือ ได้จัดการสถาปนาพระมหาธาตุรูปปรางค์ สูงง ๘ ว่า และสร้างพระวิหารทิศทั้ง ๔ มีพระรายล้อมรอบ ๒ ชั้นและทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปสำหรับพระวิหาร

ในกาลนั้นพระองค์ทรางเดชานุภาพครอบงำหริกุญชัย และศรีสัชนาลัย จึงมีพระราชสาส์นไปยังเมืองศรีสัชนาลัยให้นำช่างมาช่วยปั้นปุ่นพระพุทธรูป เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยได้ส่งช่างพราหมณ์ฝีมือมา ๕ นาย คือ บาอินทร บาพรหม บาพิษณุ บาราชสังข บาราชกุศล พระศรีธรรมไตรปิฎกให้ช่างสวรรคโลก สมทบกับช่างเชียงแสนและช่างชาวเมืองหริกุญชัยช่วยกันสร้างหุ่นพระพุทธรูป ๓ พระองค์มีทรวดทรงลักษณะสัณฐานคล้ายกัน พระพุทธชินราชหน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้วมีเศษ พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว พระพุทธศาสดา หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๖ นิ้ว คนทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าพระพุทธรูปทั้งสามพระองค์มีคุณลักษณะงามดีหาเสมอมิได้ จึงให้เข้าดินอ่อนดินแก่ชนวนตรึงทวยรัดปลอกแน่นหนาบริบูรณ์เสร็จ ณ วัน ๔ฯ๑๕ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศุกราช ๓๑๗ ได้ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งสามพระองค์ด้วย เนื้อทองสัมฤทธิ์โบราณแท้ เมื่อพิมพ์เย็นได้แกะพิมพ์ออก พระพุทธชินสีห์ กับพระพุทธศรีศาสดาบริบูรณ์ดีน้ำท้องแล่นเสมอกัน แต่พระพุทธชินราชทองไม่แล่นบริบูรณ์ นายช่างได้ทำหุ่นใหม่หล่ออีกถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ

พระองค์ทรงตั้งจิตอธิฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เอง แล้วรับสั่งให้สมเด็จพระนาง

ปทุมาราชเทวีทรงอธิษฐานด้วยให้สร้างหุ่นพระพุทธชินราชขึ้นใหม่ ครั้งนี้มีชีปะขาวมาช่วยทำการแข็งแรงใครถามอะไรก็ไม่ยอมบอก ครั้นรูปหุ่นสำเร็จพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดงานมหามงคลฤกษ์เททอง ณ วันที่ ๔ฯ๘๖ ค่ำ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ พระพุทธศาสนากาลล่วงหน้า ๑๕๐๐ หย่อนอยู่ ๗ วัน และทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อนแล้วเททองแล่นดีบริบูรณ์ส่วนชีปะขาวที่มาช่วยก็ออกจากที่นั่นไป ถึงตำบลหนึ่งก็หายไปจึงเรียกตำบลนั้นว่า “ปะขาวหาย” พระองค์ทรงโปรดให้ช่างแต่งองค์พระพุทธรูปให้เกลี้ยงเกลา อัญเชิญพระพุทธชินราชประดิษฐานไว้ ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก วัดพระมหาธาตุ ผันพระพักตร์ต่อแม่น้ำ พระพุทธชินสีห์สถิตอยู่ทางทิศเหนือ พระพุทธศรีศาสดาอยู่ทางทิศใต้ พระวิหารใหญ่ ทิศตะวันออกทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ ๓ ต้น แล้วรับสั่งให้หล่อพระพุทธรูปหน้าตักศอกเศษเอาทองที่เหลือจากหล่อพระพุทธชินราชเรียกว่าพระเหลือรับสั่งให้เอาก้อนอิฐมาทำแท่นชุกชี สูง ๓ ศอก

ตำนานกล่าวว่าพระเจ้ากรุงสยามได้ถวายสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรทั้งสามพระองค์นี้สืบต่อมา จุลศักราช ๙๙๓ ปีเถาะ ตรีศก สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนารถ ได้เสด็จขึ้นไปถวายสักการบูชาพระพุทธชินราชดำรัสสั่งให้เอาทองเครื่องราชูปโภคมาแผ่นเป็นทองประทาศี ปิดพระพุทธด้วยพระหัตถ์เสร็จบริบูรณ์ โปรดให้มีงานสมโภช ๗ วัน ๖ คืน

พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ พระองค์นี้ ตั้งแต่แรกสร้างมาถึงปีที่ตั้งบรมราชวงศ์รัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยานานถึง ๘๒๕ ปี ระหว่างพระพุทธศาสนกาล ๑๕๐๐ ถึง ๒๓๒๕ จุลศักราช ๓๑๙ ถึง ๑๑๔๔ เมืองพิษณุโลกเปลี่ยนเจ้านายบ้าง ร้ายบ้าง ดีบ้าง ลางทีก็เป็นเมืองหลวง ลางทีก็เป็นเมืองขึ้น ถูกข้าศึกโจมตี แต่พระปฏิมากรทั้ง ๓ พระองค์นี้หาเป็นอันตรายไม่เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่พุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง

ครั้งเมื่อจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลู เอกศก กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์รับสั่งให้อาราธนาพระพุทธชินสีห์ ล่องแพมายังกรุงเทพฯ อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่มุขด้านตะวันตกพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ทันเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงย้ายมาไว้ที่มุขด้านตะวันออกทรงกาไหล่พระรัศมีฝังพระเนตร ฝังเพชรพระอุณาโลม ปิดทองใหม่ทั้งองค์ เมื่อเถลิงราชสมบัติแล้วจึงทรงทำกาบทองลองยาหุ้มพระรัศมีเป็นน้ำหนักทองหนึ่งชั่งสิบตำลึง หล่อฐานใหม่ทรงโปรดให้มีงานฉลอง





แหล่งที่มา :

วิชัย คล้ายหอม และคณะ. 2538. ตำนานพระพุทธชินราช. วารสารจาตุระสมาคม.

โรงพิมพ์มิตรสยาม กรุงเทพฯ หน้า ๓๗ – ๓๘.

ไม่มีความคิดเห็น: