วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตำนานพระแก้วมรกต

ตำนานพระแก้วมรกต




ปางเมื่อสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานล่วงแล้ว ๕๐๐ พรรษา ณ อโศการาม ในแคว้นเมืองปาฎลีบุตรพระอรหันต์รูปหนึ่งทรงพระนามว่าพระนาคเสนเถระ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญาสามารถรอบรู้พระไตรปิฏกอรรถธรามต่าง ๆ ตลอดจนแก้ปัญหานานาประการ ปรารถนาจะสร้างพระพุทธรูปบูชาไว้เป็นสักการะแก่เทพยดา และมวลมนุษย์แต่ยังเป็นว่ามนุษย์ยังประกอบด้วย อคติ โกรธ โลภ หลงอยู่ การที่จะสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ และเงินยวงนั้นก็เกรงว่าพรวกมิจฉาทิฎฐิจะนำไปทำลายเสียคงจะมิถาวรยั่งยืนไปถึง ๕๐๐ ปี จึงทรงจะปรารถนาสร้างด้วยแก้ว

ในกาลครั้งนี้ ด้วยทิพย์จักษุทิพย์โสตแห่งองค์สมเด็จพระอมรินทราธิราชรู้ว่าพระนาคเสนเถระเจ้ามีความปรารถนาจะสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วอันประเสริฐ ไว้เป็นสักการะแก่เทพยดา และมวลมนุษย์จึงทรงรับอุปัฎฐากให้สำเร็จสมดังความตั้งใจได้เสด็จไปสถาบรรพตพร้อมด้วยพระวิษณุกรรมเพื่อขอแก้วรัตนโสภณต่ออสูรกุมภัณฑ์ยักษ์ที่พิทักษ์อยู่ได้แก้วมรกตดวงหนึ่งมีพรรณรังสีรัศมีงามเลิศเทียมแก้วโลกาทิพย์รัตนนายกแก้วมรกตนี้มีบริวาร ๑,๐๐๐ ดวง มีสีเขียสสถิตอยู่ใกล้บริเวณโสภณแก้วมณีโชติสมเด็จพระอมรินทราธิราช จึงมีเทวบัญชาให้พระวิษณุกรรมนำแก้วมรกตสู่อโศการาม กระทำแก้วมรกตให้เป็นพระพุทธรูปปรากฏว่าพระพุทธลักษณะอันงามสมกับเป็นปฐมปฐาปนา พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต อันเป็นที่สักการบูชาของหมู่มวลวานิชแก้วมรกตเปล่งสีออกมารัศมีเป็นสีต่าง ๆ ฉัพพรรณรังสีพวงพุ่งออกจากพระวรกายบรรดาเทพบุตร เทพยดา และท้าวพระยาสามนตราชพระอรหันตขีณาสพและสมณพราหมณ์ตลอดจนประชาราษฎร์พากันแซ่ซร้องถวายสักการบูชาพระนาคเสนเถระจึงตั้งสัตยาธิษฐาน อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าประดิษฐานในองค์พระพุทธมหารัตนปฏิมากร ๗ พระองค์คือ ในพระโมลี ๑ ในประนลาฎ ๑ ในพระอุระ ๑ ในประอังสาทั้ง ๒ ข้าง ในพระชานุทั้ง ๒ ข้าง ในขณะนั้นแผ่นดินไหวเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระนาคเสนเถระได้ทรงเล็งญาณก็ทราบจึงทำนายไว้ว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรจะสถิตในเมืองปาฎลีบุตรมั่นคงช้านานจะทรงเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในเบญจประเทศคือ ลังกาทวีป กัมพูชา ศรีอยุธยา โยนะวิไสยสุวรรณภูมิ ปามะหละวิไสย

พระมหากษัตริย์ ซึ่งครองเมืองปาฎลีบุตรรับปฏิบัติรักษาพระแก้วมรกตจนพุทธศักราชล่วงไป ๘๐๐ ปี ต่อมาพระเจ้สิริกิตติกุมารครองราชย์ย์เกิดจลาจลวุ่นวายเกิดสงครามมิได้ขาดชาวประชาราษฎร์พร้อมใจกันอัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมกับพระธรรมไตรปิฎกลงสำเภาหนีสู่ลังกาทวีปพระแก้วมรกตประทับอยู่ลังกาทวีปนานประมาณ ๒๐๐ ปี

ต่อมากษัตริย์พม่าองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระอนุรุธาราชาธิราช พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๘ รูป จัดเครื่องบรรณาการลงสำเภาเดินทางไปลังกาทวีปเพื่อชำระอักขระพยัญชนะวิบัติพระไตรปิฏกธรรมให้ถูกต้องและทรงตรัสขอพระพุทธมณีรัตน์ปฏิมากรลงสำเภา แต่สำเภาที่บรรทุกพระแก้วมรกตและพระไตรปิฏกถูกพายุพัดเข้าไปในอ่าวกัมพูชา ต่อมาเกิดน้ำท่วมฝนตกห่าใหญ่ในกรุงกัมพูชาอินทปัตถ์ มีพระเถระองค์หนึ่งอัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมด้วยอันเตวาสิกสัทธิวิหาริกออกมาอาศัยอยู่ภูมิประเทศเหนือเมืองอินทปัตถ์

ต่อมาพระเจ้าอติตะราชผู้ครองนครกรุงศรีอยุธยาโบราณ ทรงทราบว่าน้ำท่วมกรุงอินทปัตถ์ทรงพระปริวิตกว่า พระพุทธมณีรัตนปฏิมากรจะเป็นอันตราย พระองค์ทรงสืบเสาะแสวงหาพระแก้วมรกตได้ตามพระราชประสงค์อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเวชยันต์ปราสาท พระแก้วมรกตสถิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาโบราณนานหลายสมัย

ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้กราบทูลขอพระแก้วมรกตไปประทับอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรชั่วขณะหนึ่ง เมื่อราชบุตรเจริญวัยได้ครองเมืองลพบุรีได้ทูลขอพระแก้วมรกตไปประดิษฐานอยู่ในวิหารเมืองลพบุรีเพียง ๑ ปี กับ ๙ เดือน จำต้องอัญเชิญกลับเมืองกำแพงเพชร

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๐ เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะเอาพระแก้วมรกตซ่อนศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในสถูปต่อมาพระสถูปถูกอสนีบาตฟาดพังลงมาชาวเมืองเห็นเป็นปูนพอกทึบทั้งองค์ สำคัญว่าเป็นพระพุทธรูปสามัญจึงอัญเชิญไว้ในวิหารแห่งหนึ่ง และต่อมาปูนกะเทาะเห็นเป็นแก้วสีเขียวงามตรงปลายนาสิก เจ้าอธิการวัด จึงได้กะเทาะเอาปูนออกทั้งองค์จึงทราบว่าพระพุทธรูปสร้างด้วยมรกตทั้งแท่ง ราษฎรพากันมานมัสการมากมาย ทราบพึงพระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้จัดขบวนรับเสด็จพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรขึ้น หลังช้างแห่งมาตลอดทาง แต่พอถึงทางแยกไปเมืองลำปาง ช้างที่รับเสด็จพระแก้วมรกตก็วิ่งเตลิดไปทางลำปาง เจ้าเมืองลำปางทรงเลื่อมใสในพระแก้วมรกตอยู่แล้วจึงอัญเชิญประดิษฐานอยู่ที่เมืองลำปาง นานถึง ๓๒ ปี

ครั้น พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชได้ครองนครเชียงใหม่ได้อัญเชิญมายังนครเชียงใหม่ และพยายามสร้างวิหารให้มียอดเป็นปราสาท แต่ก็ถูกอสนีบาตตกลงมาฟาดเสียทุกครั้ง จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในวิหารซุ้มจรณัม พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่นครเชียงใหม่นานถึง ๘๔ ปี

ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาอัญเชิญมาประทับอยู่ในเมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี ต่อมาได้ประดิษฐานอยู่ในปราสาทนครเวียงจันทร์ นานถึง ๒๑๔ ปี ครั้งถึง พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรกับพระบางขึ้นคานหามมายับยั้งที่เมืองสระบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบทรงเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ จึงได้ราชบุตรอาธาธนาพระสังฆราช และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ และจัดกำลังเรือพร้อมฝีพายขึ้นไปรับพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรีและมีการสมโภชตลอด ๗ วัน

ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเถลิงราชสมบัติให้รัตนาไชศวรรย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ โปรดให้สร้างพระอารามให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ครั้นพระอุโบสถเสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงจัดเครื่องถวายสำหรับฤดูร้อนอย่างหนึ่ง และฤดูหนาวอย่างหนึ่ง ฤดูฝนอีกอย่างหนึ่ง และถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้





แหล่งที่มา :

วิชัย คล้ายหอม และคณะ. 2538. ตำนานพระแก้วมรกต. วารสารจาตุระสมาคม.

โรงพิมพ์มิตรสยาม กรุงเทพฯ หน้า ๓๖ – ๓๗.

ไม่มีความคิดเห็น: